100 คำสุภาษิต ที่ใช้บ่อย ในชีวิตประจำวัน
คำสุภาษิต คือ คำในภาษาไทยที่เป็นการสร้างคำให้มีความหมายเชิงเปรียบเทียบอุปมาอุปมัย และเป็นเชิงสั่งสอนหรือให้ข้อคิด หรือตักเตือนไปในทางบวก โดยเน้นการให้ความหมายในแง่ดีเป็นหลัก
รวม 100 คำสุภาษิตที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน
- กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้
หมายถึง ทำอะไรไม่ทันท่วงที - กินปูนร้อนท้อง
หมายถึง ทำผิดแล้วมักออกตัว แสดงพิรุธ - ขายผ้า เอาหน้ารอด
หมายถึง ยอมเสียทุกอย่างเพื่อรักษาชื่อเสียง - ขิงก็ราข่าก็แรง
หมายถึง ต่างคนต่างแรง ไม่ยอมกัน เรื่องเล็กก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ไป เพราะทิฐิมานะ - ขี่ช้างจับตั๊กแตน
หมายถึง ทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ได้ผลไม่คุ้มกับที่ต้องเสียไป - คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้
หมายถึง คนดีไปที่ไหนก็มีคนอยากคบหาสมาคมด้วย ไม่ลำบาก - คนรักเท่าผืนหนังคนชังเท่าผืนเสื่อ
หมายถึง คนที่รักเรามีน้อยคล้ายผืนหนัง คนชังมีมาก อย่างกับเสื่อลำแพน - คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย สามคนกลับมาได้
หมายถึง ทำงานเป็นทีมจะให้สถานการณ์ที่ดีกว่า - คบคนดีมีศรีแก่ตัว คบคนชั่วอัปราชัย
หมายถึง อัปราชัย ในที่นี้มีความหายเท่ากับ ปราชัย คือจะพ่ายแพ้ หมายถึงไม่เป็นมงคลแก่ตัว - คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล
หมายถึง คบใครก็จะเป็นคนอย่างนั้น - คบคนให้ดูหน้าซื้อผ้าให้ดูเนื้อ
หมายถึง ก่อนคบค้าสมาคมกับใคร ดูที่มาที่ไปให้ดีๆ - ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี
หมายถึง มีความสำนึกในความดีของสิ่งหรือบุคคลที่มีพระคุณต่อเรา กตเวที แปลว่า การตอบแทนต่อสิ่งหรือบุคคลที่มีพระคุณต่อเรา คนที่มีคุณสมบัตินี้ จะทำให้ตนเองและครอบครัวพบแต่ความเจริญรุ่งเรือง พบแต่ความสำเร็จ คุณสมบัตินี้ถือว่าเป็นทรัพย์อันประเสริฐในตัวบุคคล - ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด
หมายถึง แม้จะมีความรู้สูงแค่ไหนก็ตาม ถ้าความประพฤติไม่ดีแล้วก็เอาตัวไม่รอด เพราะไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย หรือมีความรู้ แต่ไม่ใช้ความรู้ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร - ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก
หมายถึง มีเรื่องราวเดือดร้อนเกิดขึ้น ยังไม่ทันจะแก้ไขหรือจัดการให้สงบดี ก็เกิดมีเรื่องใหม่ซ้อนขึ้นมาอีก กลายเป็น 2 เรื่องขึ้นในคราวเดียว - คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก
หมายถึง ที่อยู่อาศัย แม้จะคับแคบเพียงใด ถ้ารู้จักทำให้ดี ก็น่าอยู่ แต่ถ้าหากมีความคับอกคับใจแล้ว แม้ที่จะกว้างขวางใหญ่โต ก็มิได้ทำให้สบายอกสบายใจเลย มีแต่จะรู้สึกอึดอัดใจแต่ถ่ายเดียว - ฆ่าควายก็ต้องไม่เสียดายพริก
หมายถึง ถ้าคิดจะทำงานใหญ่ทั้งที ก็ต้องไม่กลัวหมดเปลือง - จับปลาสองมือ
หมายถึง การที่คน ๆ หนึ่งทำสิ่งใดที่ยากพร้อม ๆ กัน ทำให้ล้มเหลวทั้งสองสิ่งนั้น สำนวนนี้นิยมใช้กับผู้ชายที่เกี้ยวผู้หญิงสองคนในเวลาเดียวกัน ซึ่งผลสุดท้ายแล้วผู้ชายคนนั้นจะมีปัญหาตามมา - จำศีลเอาหน้า ภาวนาโกหก
หมายถึง แสร้งทำเป็นว่าถือศีลเคร่งครัด ชอบเจริญภาวนาเข้ากรรมฐาน ที่ลวงให้คนอื่นเข้าใจว่าตนเป็นมีศีลมีธรรม เขาจะได้เชื่อถือไว้วางใจ - ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน
หมายถึง ชีวิตคนเราเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ เดี๋ยวรุ่งเรือง เดี๋ยวตกอับ ดังนั้นเมื่อถึงคราวตกอับ ก็อย่าเพิ่งท้อถอย หรือหมดอาลัยในชีวิต และเมื่อถึงคราวรุ่งเรือง มีอำนาจวาสนา ก็อย่าลืมตัว อย่าประมาท - ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ
หมายถึง ลูกผู้ชายที่ชื่อว่าตนมีความเก่งกล้าสามารถ จะต้องสำแดงวิชาความรู้และความสามารถให้ลือชาปรากฏแก่คนทั่วไป ดุจเสือ (ลายพาดกลอน) ก็ต้องมีลายฉะนั้น - ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงาม ด่วนได้สามผลามมักพลิกแพลง
หมายถึง จะทำอะไรก็ทำอย่างมีสติ รอบคอบ แม้จะช้าไปบ้างก็ได้ผลดี แต่ถ้าทำอย่างรีบร้อน ไม่พินิจพิเคราะห์ให้ดีก่อน อาจผิดพลาดเสียหายได้ง่าย - ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด
หมายถึง ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ใบบัวมีขนาดเล็ก ถ้าเอาใบบัวใบเดียวไปปิดช้าง ย่อมปิดไม่มิด คนที่ทำความชั่วไว้มากมาย ถึงจะปิดอย่างไรๆ ก็ปิดไม่หมด คนย่อมรู้เข้าจนได้ - ช้างสาร งูเห่า ข้าเก่า เมียรัก อย่าได้ไว้วางใจ
หมายถึง ช้างสารและงูเห่า เป็นสัตว์เดรัจฉานไว้ใจไม่ได้ ข้าเก่าและเมียรัก เป็นบุคคลที่ใกล้ชิด ย่อมรู้เรื่องราวและความลับของเราหมด บุคคลประเภทนี้ ถ้ากลับกลายเป็นศัตรูแล้วจะเป็นศัตรูที่ร้ายที่สุด ดังนั้นจึงไม่ควรไว้วางใจจนเกินไป - ดูช้างให้ดูหน้าหนาว ดูสาวให้ดูหน้าร้อน
หมายถึง หน้าหนาวช้างจะตกมัน ตอนนี้แหละเราจะเห็นลักษณะท่าทางของช้างว่ามีความห้าวหาญดุดันอย่างไร หน้าร้อนอากาศอ้าว ผู้หญิงก็ใช้ผ้าน้อยชิ้น หรือผ้าบางๆ ทำให้มองเห็นรูปร่างทรวดทรงและผิวพรรณของผู้หญิงว่าสวยงามแค่ไหนเพียงใด - ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ถ้าจะดูให้แน่ต้องดูถึงย่าถึงยาย
หมายถึง วัวที่มีลักษณะดีนั้นให้ดูที่หาง ถ้าปลายหางเป็นพู่เหมือนใบโพธิ์ ก็นับว่าเป็นวัวที่มีลักษณะดีมาก การที่จะเลือกผู้หญิงมาเป็นคู่ครอง ไม่ใช่ดูเพียงตัวผู้หญิงเท่านั้น ต้องดูไปจนถึงแม่ด้วยว่าเป็นคนดีหรือไม่ เพราะลูกกับแม่ก็มักจะมีลักษณะนิสัยคล้ายคลึงกัน และถ้าจะดูให้แน่จริงๆ ต้องสืบประวัติไปจนถึงย่ายายของหญิงนั้นด้วย - ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา
หมายถึง ให้รู้จักเจียมเนื้อเจียมตัวไว้บ้าง - ตามใจปากมากหนี้
หมายถึง เห็นแก่กินย่อมสิ้นเปลืองมาก - ต่อหน้ามะพลับลับหลังตะโก
หมายถึง ต่อหน้าทำอย่างหนึ่ง ลับหลังทำอีกอย่างหนึ่ง แบบหน้าไหว้ หลังหลอก - ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น
หมายถึง ทำอะไรดูเหมือนจะละเอียดถี่ถ้วนดี แต่ความจริงแล้วไม่รอบคอบ หรือบางทีก็ดูเหมือนจะใช้สอยอย่างกระเหม็ดกระแหม่ในบางเรื่องแต่อีกเรื่องหนึ่งกลับสุรุ่ยสุร่าย - ถ้าไม่มีไฟ ที่ไหนจะมีควัน
หมายถึง เมื่อมีผลออกมา มันต้องมีเหตุแน่ๆ - นอนสูงให้นอนคว่ำ นอนต่ำให้นอนหงาย
หมายถึง เมื่อนอนในที่สูง ถ้านอนคว่ำ อะไรผ่านไปผ่านมาข้างล่างก็มองเห็นหมด และเมื่อนอนในที่ต่ำ ถ้านอนหงาย อะไรผ่านไปผ่านมาข้างบนก็มองเห็นหมด ถ้านอนต่ำแล้วนอนคว่ำหน้าจะจดพื้น มองไม่เห็นอะไร - นายว่า ขี้ข้าพลอย
หมายถึง ลักษณะของคนเลว ไร้ความรู้ ถ้าเจ้านายว่าอย่างไร ก็มักจะพลอยประสมโรงซ้ำเติมด้วย - น้ำขึ้นให้รีบตัก
หมายถึง เมื่อเวลามีบุญมีวาสนา อย่างจะทำความดีอะไรก็รับทำๆ เสีย - น้ำท่วมปาก
หมายถึง การรู้อะไรแล้วพูดไม่ได้ พูดไม่ออกไม่สามารถพูดออกมาได้ เพราะมีความจำเป็นบางอย่างหรือเพราะเกรงจะมีภัยมาถึงตนเองแก่ตนหรือผู้อื่นที่เกี่ยวข้องด้วย รู้แล้วพูดออกมาไม่ได้ รู้สึกอึดอัด เหมือนน้ำท่วมปาก - น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า
หมายถึง ทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยกัน ต้องเห็นอกเห็นใจกัน จึงควรผูกไมตรีกันไว้ - น้ำลด ตอผุด
หมายถึง ความชั่วเมื่อทำไว้ในเวลาที่ตนมีอำนาจนั้น อาจไม่มีใครทราบ แต่เมื่อหมดบุญ หมดอำนาจ บรรดาความชั่วที่ปิดบังกันไว้นั้น ก็จะปรากฏออกมา - น้ำลึกหยั่งได้ น้ำใจหยั่งยาก
หมายถึง น้ำลึกเป็นเรื่องรูปธรรม เราหาวัตถุมาวัดได้ แต่น้ำใจเป็นเรื่องนามธรรม ไม่มีเครื่องวัด - น้ำเชี่ยว อย่าขวางเรือ
หมายถึง เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงอะไรเกิดขึ้น ก็อย่าไปขัดขวาง จะได้รับอันตราย เพราะตอนนี้ตนอยู่ในระยะหน้าสิ่งหน้าขวาน คนเรามักไม่มีเหตุผลดุจนน้ำเชี่ยว ถ้าเอาเรือไปขวาง เรือก็จะล่ม - ปลาหมอตายเพราะปาก
หมายถึง คนที่ชอบพูดอะไรพล่อยๆ มักจะได้รับอันตรายเพราะปากที่พูดพล่อยๆ นั้น - ปลูกเรือนต้องตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ต้องตามใจผู้นอน
หมายถึง จะทำอะไรก็ต้องตามใจผู้ที่จะได้รับผล เหมือนปลูกเรือนต้องปลูกตามที่ผู้อยู่ต้องการ ไม่ใช่ตามที่ช่างต้องการ เพราะช่างหรือสถาปนิกไม่ใช้ผู้อาศัย ผูกอู่ก็คือผูกเปล ก็ต้องให้ถูกใจผู้นอน - ปากคนยาวกว่าปากกา
หมายถึง ตามปรกติปากของอีกายาวกว่าปากคน แต่ปากคนนั้นพูดเล่าลือต่อปากกันไปได้ไกล ผิดกับกาแม้ปากจะยาว แต่ก็ต่อปากต่อคำอย่างคนไม่ได้ - ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา
หมายถึง สมัยก่อนการศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านยังไม่แพร่หลาย คนที่รู้หนังสือมีน้อย บางคนก็ได้ดีเพราะปาก การคิดเลขหรือการคำนวณนั้นมีความสำคัญน้อยลงมาอีก แม้เดี๋ยวนี้คนที่มีความรู้ดีแต่พูดไม่เก่ง ก็เอาดีได้ยาก ส่วนความชั่วความดีนี้ ทำลงไปแล้วย่อมเป็นเสมือนตราที่ประทับลงไปให้รู้ว่าคนนั้นเป็นคนดี หรือคนชั่ว - พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง
หมายถึง คำพูดบางครั้งหากพูดออกไปอาจจะก่อให้เกิดผลเสียต่อตนเองหรือคนรอบข้าง หากอยู่เฉย ๆ ไม่พูดอะไรออกไปยังจะก่อเกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่า - มะนาวไม่มีน้ำ
หมายถึง พูดห้าว ๆ หรือ พูดไม่มีหางเสียง - มีเงินเขานับว่าเป็นน้อง มีทองเขานับว่าเป็นพี่
หมายถึง เมื่อมั่งมีเงินมีทองแล้ว ใคร ๆ ก็ประจบอยากเข้ามาเป็นญาติพี่น้องด้วย - รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ
หมายถึง รักจะคบกันนาน ๆ ให้ตัดความคิดอาฆาตพยาบาทออกไป รักจะอยู่สั้น ๆ ให้คิดอาฆาต - รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี
หมายถึง วัวถ้าไม่ผูกไว้ ก็อาจหายได้ ถ้าลูกดื้อ พ่อแม่ก็ต้องดุต้องตีบ้าง แต่การที่พ่อแม่ตีไม่ใช่ตีด้วยความเกลียดชัง เพราะพ่อแม่ที่ตีนั้นก็ไม่อยากตี บางทีตีแล้วแอบไปร้องไห้ สงสารลูกก็มี แต่ถ้าไม่ตีเสียบ้าง ต่อไปถ้าลูกกลายเป็นคนชั่วช้าเลวทราม พ่อแม่จะต้องเสียน้ำตามากกว่านั้น - รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม
หมายถึง การศึกษาหาความรู้ไว้ ยิ่งมากยิ่งดี เพราะการมีความรู้มาก ไม่เหมือนการแบกข้าวแบกของ ซึ่งจะรู้สึกว่าหนักบ่า มีความรู้มิได้หนักบ่าหนักแรงอะไร ความรู้ที่เวลานี้เราคิดว่าไม่มีประโยชน์ วันหน้าอาจเห็นคุณค่าของมันก็ได้ - วัวสันหลังขาด เห็นกาบินผาดก็ตกใจ
หมายถึง คนที่มีความผิดติดตัว มักจะมีพิรุธ มีอาการหวาดระแวงอยู่เสมอ กลัวคนอื่นจะรู้ เหมือนวัวสันหลังหวะเป็นแผล พอเห็นกาบินมาก็หวาดกลัว เกรงว่ากาจะโฉบลงมาจิกที่แผลนั้น บางทีก็พูดว่า “วัวสันหลังหวะ” - วัวหายแล้วจึงล้อมคอก
หมายถึง เมื่อเกิดเสียหายขึ้นมาแล้วจึงหาทางป้องกันในภายหลัง ซึ่งนับว่าไม่ทันการณ์ ควรจะล้อมคอกเสียก่อนที่วัวจะหาย - วัวเห็นแก่หญ้าขี้ข้าเห็นแก่กิน
หมายถึง หมายถึงคนที่เห็นแก่ได้ เห็นแก่กิน และเกียจคร้าน - วัวใครก็เข้าคอกคนนั้น
หมายถึง ส่วนของใครก็เป็นของคนนั้น ไม่ก้าวก่ายหรือก้ำเกินในผลประโยชน์ของกันและกัน - ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง
หมายถึง พูดว่าคนอื่นอย่างไร ตนเองก็กลับเป็นอย่างนั้นเสียเองเหมือนอิเหนาที่ปรารภว่าไม่รักไม่ต้องการบุษบา แต่ตัวเองกลับลักพาบุษบาไป - สอนเด็ก สอนง่าย สอนผู้ใหญ่ สอนยาก
หมายถึง จะอบรมสั่งสอนอะไรก็ทำเสียตั้งแต่เด็ก เพราะอบรมสั่งสอนง่าย จะสอนให้เป็นอะไรก็ได้ ส่วนคนแก่นั้นสอนยาก เหมือนไม้แก่ถ้าดัดก็หัก ผิดกับไม้อ่อนซึ่งดัดง่ายไม่หัก - สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
หมายถึง คนเราแม้จะมีความรู้สูงอย่างนักปราชญ์ ก็อาจผิดพลาดได้เหมือนกัน ทุกคนจึงไม่ควรประมาท แม้สัตว์สี่เท้าเช่น วัวควายซึ่งมีสี่เท้าก็ยังอาจก้าวพลาดถึงล้มลงได้ ภาษิตนี้บางทีก็มีพูดต่อไปอีกว่า “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง สองตีนโด่เด่ คงจะเซลงบ้าง” - หญิงสามผัว ชายสามโบสถ์ อย่าได้คบ
หมายถึง แสดงว่ามีจิตใจรวนเร คบเป็นเพื่อนตายไม่ได้ เพราะเมื่อถึงคราวคับขัน อาจปลีกตัวหนีเอาตัวรอดไปตามลำพังได้ - หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว
หมายถึง การทำอะไรเพื่อประชดประชัน ไม่ได้ประโยชน์อะไร ผลเสียจะตกแก่ตน ส่วนผลดีจะไปได้แก่คนที่เราประชดให้ - อดเปรี้ยวไว้กินหวาน
หมายถึง ให้มีความอดทน อดใจรอผลข้างหน้าที่จะดีกว่า คือละทิ้งสิ่งที่ไม่ดี เพราะอดใจรอเอาสิ่งที่ดีกว่า - อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น
หมายถึง เมื่ออยู่บ้านใคร อย่าอยู่เปล่า ควรทำการทำงานช่วยเหลือเขาเท่าที่จะทำได้ แม้เพียงเอาดินเหนียวมาปั้นวัวปั้นควายให้ลูกเจ้าของบ้านเล่นก็ยังดี เขาจะได้เมตตาสงสาร - อย่าข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า
หมายถึง อย่าบังคับขืนใจผู้อื่นให้ทำตามใจตน - อย่าชักน้ำเข้าลึก อย่าชักศึกเข้าบ้าน
หมายถึง บางทีก็พูดว่า “อย่าชักเรือเข้าลึก” หมายความว่า อย่าทำอะไรที่เป็นเหตุให้อันตรายมาถึงตัว - อย่าชิงสุกก่อนห่าม
หมายถึง ตามปรกติผลไม้ เช่นมะม่วงก่อนจะสุก จะต้องห่ามเสียก่อน การกระทำอะไรต้องให้เป็นไปตามจังหวะขั้นตอนของมัน ถ้าทำผิดลำดับอาจเสียหาย เหมือนผลไม้ที่ยังไม่แก่ เอามาบ่มแม้จะสุก แต่ก็จะเข้าทำนองหัวหวานก้นเปรี้ยว หรือยังเรียนหนังสือไม่จบ ยังหาเงินไม่ได้ ริมีลูกมีเมียเสียก่อน ตัวเองก็จะเดือดร้อนลูกเมียก็จะพลอยเดือดร้อนไปด้วย - อย่าชี้โพรงให้กระรอก
หมายถึง คืออย่าไปสอนผู้รู้ เพราะเขารู้อยู่แล้ว เหมือนกับกระรอกมันย่อมรู้จักโพรงของมัน ไม่ต้องไปชี้บอกกับมันดอก - อย่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
หมายถึง อย่าทำอะไรที่ต้องเสียทรัพย์โดยไม่ได้ประโยชน์คุ้มกับเงินทองที่ต้องเสียไป เหมือนตำน้ำพริกเพียงครกหนึ่งแล้วเอาไปละลายในแม่น้ำ ซึ่งมีน้ำมาก จะทำให้น้ำในแม่น้ำกลายเป็นน้ำพริกอย่างในหม้อแกงไม่ได้ - อย่าทำตัวเป็นกิ้งก่าได้ทอง
หมายถึง อย่าเย่อหยิ่งจองหองเพราะเพียงได้ดีหรือมีทรัพย์ขึ้นมาเพียงเล็กน้อย - อย่าทำเป็นหมาเห่าใบตองแห้ง
หมายถึง อย่าทำพูดอวดเก่ง หรือเก่งแต่ปาก - อย่าฟื้นฝอยหาตะเข็บ
หมายถึง อย่ารื้อเอาเรื่องเก่าๆ ที่ล่วงเลยไปแล้วขึ้นมาพูดให้สะเทือนใจกัน ฝอย ในที่นี้หมายถึง มูลฝอย กุมฝอย ตะเข็บ คล้ายตะขาบ แต่ตัวเล็กกว่ามาก ชอบอยู่ตามกุมฝอย - อย่าละเลงขนมเบื้องด้วยปาก
หมายถึง อย่าเป็นคนดีแต่พูด คือพูดได้ แต่ทำไม่ได้ - อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า
หมายถึง อย่าใช้อำนาจบังคับอย่างหักโหมรุนแรง เพื่อให้ผู้อื่นทำตามความประสงค์ของตน เพราะนอกจากจะไม่สำเร็จแล้ว ตัวเองก็อาจเดือดร้อน - อย่าเห็นขี้ดีกว่าไส้
หมายถึง อย่าเห็นผู้อื่นดีกว่าญาติพี่น้องลูกหลานของตน - อย่าเอาจมูกคนอื่นหายใจ
หมายถึง ต้องรู้จักช่วยตัวเอง อย่าคิดแต่จะพึงพาอาศัยคนอื่นเสมอไป ถ้าเราทำอะไรได้เองก็สะดวก แต่ถ้าต้องคอยอาศัยคนอื่นเขาร่ำไป ย่อมไม่ได้รับความสะดวก เหมือนคนมีรถยนต์แล้วขับไม่เป็น จะไปไหนทีก็ต้องพึ่งคนขับอยู่เรื่อย ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ไปไม่ได้ - อย่าเอาทองไปลู่กระเบื้อง
หมายถึง คืออย่าลดตัวลงไปสู้กับคนชั่วต่ำ มีแต่เสียศักดิ์ศรี เพราะไม่คู่ควรกัน - อย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ
หมายถึง พิมเสนเป็นของมีค่ามากกว่าเกลือ คืออย่าลดตัวลงไปสู้กับคนชั่วต่ำ มีแต่จะเสียศักดิ์ศรี เพราะไม่คู่ควรกัน - อย่าเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน
หมายถึง จะไม่ได้ประโยชน์อะไร เขาจะหัวเราะเยาะได้ เพราะในสวนเขาก็มีมะพร้าวอยู่แล้ว หมายความว่า อย่าเอาสิ่งของหรืออะไรก็ตามแสดงต่อผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในสิ่งนั้นเป็นที่ลือชาปรากฏอยู่แล้ว เพราะจะทำให้ดูเหมือนว่าตนเป็นคนโง่เขลา เบาปัญญา หรือเซ่อเซอะอะไรทำนองนั้น - อย่าเอาลูกเขามาเลี้ยง อย่าเอาเมี่ยงเขามาอม
หมายถึง อย่าเอาของคนอื่นมาชื่นชมยินดี - อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน
หมายถึง อย่าหาเรื่องใส่ตัว การพูดหรือทำอะไรก้าวก่ายไปถึงผู้อื่นโดยมิบังควร ย่อมทำให้ตนได้รับความเดือดร้อนโดยไม่จำเป็น - อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง
หมายถึง อย่าวางใจหรือไว้วางใจใครคนอื่นง่ายเกินไป จะเป็นเราที่เดือดร้อนในภายหลังได้ - เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน
หมายถึง ถึงจะทำงานเล็กใหญ่ หรือค้าขายอะไรก็ตาม ก็พยายามค่อยๆ ทำให้ดีขึ้นแม้เล็กน้อยๆ เมื่อรวมกันและใช้เวลาก็จะทำให้การงานนั้นเห็นผลเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ - เขียนเสือให้วัวกลัว
หมายถึง ขู่ให้กลัว - เข็นครกขึ้นภูเขา
หมายถึง ทำงานที่ยากลำบากต้องใช้ความเพียรพยายามและอดทนมาก - เข้าตามตรอก ออกตามประตู
หมายถึง ทำอะไรให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณี - เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า ได้หน้าอย่าลืมหลัง
หมายถึง อย่าประมาทต้องเตรียมให้พร้อม และให้มีสติกำหนดจดจำให้ดี - เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม
หมายถึง ประพฤติให้ถูกต้องตามกาลเทศะ เมื่อไปอยู่ในพวกเขาแล้ว ก็ต้องประพฤติคล้อยตามเขา - เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ
หมายถึง ทั้งๆ ที่ตนไม่มีส่วนได้เป็นผลประโยชน์กับเขาเลย แต่ก็พลอยเข้าไปพัวพันในเรื่องร้าย ทำให้ต้องพลอยรับบาปรับเคราะห์เสียหายไปกับเขาด้วย - เรือล่มเมื่อจอดตาบอดเมื่อแก่
หมายถึง ทำอะไรต่ออะไรดีมาตลอด แต่พอเสร็จกลับไม่ได้ผลอะไร หรือมาล้มเหลวเมื่อปลายมือ หรือในตอนท้าย - เรือล่มในหนองทองจะไปไหน
หมายถึง เมื่อจะต้องสูญเสียอะไรไปอย่างไม่มีทางที่จะสูญเปล่า ก็ไม่ต้องวิตกทุกข์ร้อนอะไร - เลี้ยงช้างกินขี้ช้าง
หมายถึง หาเศษหาเลยหรือมีผลประโยชน์พลอยได้จากหน้าที่ที่ตนทำเปรียบเหมือนคนเลี้ยงช้าง ซึ่งช้างก็มีค่าหญ้าอันเป็นส่วนของช้าง คนเลี้ยงช้างอาจเบียดบังเอาส่วนหนึ่งของค่าหญ้าเป็นผลประโยชน์ของตัว - เลือกนักมักได้แร่
หมายถึง เลือกไปเลือกมา ในที่สุดมักจะไปได้ที่ไม่ดี มักใช้ในกรณีเลือกคู่ เลือกไปเลือกมาในที่สุดไปได้คนที่ไม่ดีมาเป็นคู่ครอง แร่ในที่นี้หมายถึงขี้แร่ หรือแร่เลวๆ ที่ไม่มีค่าอะไรกัน - เล่นกับหมา หมาเลียปาก เล่นกับสาก สากต่อยหัว
หมายถึง ถ้าลดตัวไปเล่นหัวกับคนชั้นต่ำกว่า เขาก็อาจตีเสมอทำลวนลามเอา สากในที่นี้หมายถึงสากตำข้าวที่เขาพิงไว้ ถ้าใครซุกซนไปจับต้องเข้า สากอาจเลื่อนล้มทับถูกหัวถูกหูก็ได้ - เสน่ห์ปลายจวัก ผัวรักจนตาย
หมายถึง ผู้หญิงที่จะผูกมัดจิตใจสามีได้ ไม่ใช่เพียงเพราะความสวยอย่างเดียว เพราะความสวยงามเป็นของไม่จีรังยั่งยืนอะไร แต่ความดีโดยเฉพาะฝีมือในการปรุงอาหาร ถ้าหากสามารถทำให้ถูกปากสามีได้ ย่อมผูกใจสามีให้รักไปจนตาย - เสียทองเท่าหัวไม่ยอมเสียผัวให้ใคร
หมายถึง เดิมเราถือกันว่า ผู้หญิงที่เป็นแม่ร้างเพราะสามีหนีไปนั้น แสดงว่าผู้หญิงผู้นั้นต้องมีอะไรบกพร่องเลวร้าย สังคมมักคิดว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี เพราะฉะนั้นผู้หญิงจึงไม่ยอมเสียสามีให้แก่หญิงใด เพราะเท่ากับเสียศักดิ์ศรีของตน แต่ในปัจจุบันอาจได้ยินบางคนพูดว่า “ถ้าได้ทองเท่าหัว ใครอยากได้ผัวก็เอกไป” แสดงว่าคนเดี๋ยวนี้เห็นแก่เงินมากขึ้น - เสียน้อย เสียยาก เสียมาก เสียง่าย
หมายถึง เวลาจะต้องเสียงเพียงเล็กน้อย ไม่อยากจะเสีย แต่พอถึงคราวต้องเสียมาก ๆ รับควักเงินให้ทันที อย่างข้าวของที่ชำรุดไปเล็กน้อย แทนที่จะรีบซ่อมแซมเสีย กลับปล่อยให้เสียมาก แล้วจึงซ่อมแซม ซึ่งต้องหมดเงินมากกว่าหลายเท่า - โลภมาก ลาภหาย
หมายถึง โลภมากเกินไป ในที่สุดจะไม่ได้อะไรเลย ท่าสอนให้รู้จักมีความพอประมาณไว้บ้าง - ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว
หมายถึง ทำทุกข์ให้แก่ผู้ใด เคราะห์กรรมที่ทำกับเขา อาจตกตามมาถึงตัวเองบ้าง อย่างบางคนชอบล่าสัตว์ บางทีไปยิงลูกของตน โดยเข้าใจว่าเป็นสัตว์ป่าก็มี - ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง
หมายถึง ความสวยงามเกิดขึ้นได้จากการปรุงแต่ง - ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่
หมายถึง ต่างฝ่ายต่างรู้ความลับของกันและกัน - ไม่เห็นน้ำ อย่าเพิ่งตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอก อย่าเพิ่งโก่งหน้าไม้
หมายถึง อย่าด่วนทำอะไรล่วงหน้า โดยที่ยังไม่ทราบว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในภายหน้า จะเหนื่อยเปล่า - ไม้ลำเดียวยังต่างปล้อง พี่กับน้องยังต่างใจ
หมายถึง คือคนเรา นานาจิตตัง มีความเห็นไม่เหมือนกัน เหมือนไม้ไผ่ลำเดียวกัน ก็มีหลายปล้อง แต่ละปล่องก็ยาวไม่เท่ากัน พี่น้องแม้ท้องเดียวกัน แต่ความคิดเห็นก็ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกัน - ไม้ล้มข้ามได้ คนล้มอย่าเพิ่งข้าม
หมายถึง ไม้ล้มข้ามไปไม่มีอันตรายอะไร แต่คนที่เคยมีอำนาจวาสนา แล้วหมดอำนาจ อย่าไปซ้ำเติมเขา เพราะเขาอาจกลับมามีอำนาจอีกได้ - ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก
หมายถึง จะอบรมสั่งสอนอะไรก็ทำเสียตั้งแต่เด็ก เพราะอบรมสั่งสอนง่าย จะสอนให้เป็นอะไรก็ได้ ส่วนคนแก่นั้นสอนยาก เหมือนไม้แก่ถ้าดัดก็หัก ผิดกับไม้อ่อนซึ่งดัดง่ายไม่หัก
คิดว่าน่าจะเต็มอิ่มกับคำสุภาษิตทั้ง 100 คำกันไปแล้วเนอะ หวังว่าน่าจะพอมีประโยชน์ให้นำไปใช้ต่อในชีวิตประจำวันกัน
หากยังไม่เจอคำไหน หรือคิดว่ามีตกหล่นไป สามารถแจ้งแนะนำกันเข้ามาได้เลย